พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย
https://images.app.goo.gl/5efjePBxUgEK2woD6
มีหลายคนยังคงคิดหรือมักสงสัยอยู่ว่าบรรพบุรุษของเราจะมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความเป็นอยู่ลักษณะแบบใดในอดีตบ้าง จะมีสิ่งไหนที่เหมือนหรือคล้ายกับในปัจจุบันไหมนะ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของผู้คนในสมัยนั้น และรวมถึงในแต่ละยุคจะเปลี่ยนแปลงไปแบบใดบ้างที่เป็นสิ่งสำคัญ และเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย แน่นอนว่าเราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน โดยจะสามารถสรุปและแบ่งความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ดังนี้
ยุคหินเก่า Paleolithic (Old Stone Age)
มนุษย์ในยุคหินเก่าจะมีความเป็นอยู่หรือวิธีที่ใช้ดำรงชีพที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน พึ่งพาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จึงมักเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มคนเร่ร่อน หรือพวกที่ล่าสัตว์หาของป่า ซึ่งเมื่ออาหารหมดลงก็จะย้ายถิ่นฐานไปยังแหล่งอาหารใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ส่วนใหญ่ของคนในยุคหินเก่าต้องอยู่กับการแสวงหาอาหารเพื่อความอยู่รอด รวมถึงมักจะอาศัยอยู่ตามเพิงผาที่มีหินยื่นออกมา หรือที่อยู่อาศัยที่สร้างจากไม้ กระดูก หรือหนังสัตว์ และยังอาศัยอยู่ในถ้ำ
เมื่อต้องหาอาหารเพื่อความอยู่รอด ผู้คนในยุคนี้จึงจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเพื่อหาอาหาร รวมถึงใช้ป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งการต่อสู้ในหมู่พวกเดียวกันที่มีการแย่งชิงอาหาร ที่อยู่อาศัย หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอด ส่วนมากเครื่องมือจะเป็นในลักษณะหินกระเทาะแบบหยาบ ไม้ และกระดูกที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ได้มีการประดิษฐ์มากมาย และยังมีการรู้จักใช้ไฟรวมอยู่ด้วย
ระบบสังคมของผู้คนในยุคนี้ไม่มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนอย่างแท้จริง เห็นได้จากการมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ตามแหล่งอาหาร จึงทำให้สังคมหรือความสัมพันธ์ระหว่างกันมีน้อย และไม่มีผู้นำที่แน่นอน แต่ถ้ามีคนที่มีอำนาจหรือมีความแข็งแกร่งมากพอก็จะกลายเป็นผู้ที่อยู่เหนือผู้อื่นได้ รวมถึงมีวัฒนธรรมที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศิลปะที่เป็นรูปเขียนต่าง ๆ และประติมากรรมขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมให้ได้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เชื่อในเรื่องผี ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ การฝังศพ เป็นต้น
ยุคหินใหม่ Neolithic (New Stone Age)
มนุษย์ในยุคหินใหม่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากการล่าสัตว์หาของป่ามาทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นยุคเกษตรกรรมที่มีการปฏิวัติไม่ว่าจะเป็นทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถือเป็นครั้งที่สำคัญของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงมาทำเกษตรกรรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ผู้คนในยุคนี้ต้องหันมาอยู่กับสัตว์แทนการล่าและต้องฝึกมันให้เชื่องเพื่อใช้ประโยชน์ ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องรู้จักไถ หว่าน เก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง ลูกเดือย เป็นต้น ซึ่งความเป็นอยู่เหล่านี้มีการค่อยๆ พัฒนาและปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็น “การปฏิวัติเกษตรกรรม (The Neolithic Revolution)” ในที่สุด
ลักษณะทางสังคมมีการอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านอย่างถาวรแทนการอาศัยอยู่ในถ้ำที่ต้องเร่ร่อนเหมือนในยุคหินเก่า มีกิจกรรมให้ทำ มีการค้าขาย แต่ไม่ได้มีความซับซ้อนทางสังคมอะไรมากมาย ในส่วนเทคโนโลยีในยุคหินใหม่เครื่องมือต่าง ๆทำขึ้นจากการฝนและการขัดจาก หิน กระดูก เขาสัตว์ และมีความประณีต รู้จักประดิษฐ์มากกว่าในยุคหินเก่า และยังสร้างหัตถกรรมในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า เครื่องจักรสาน และเครื่องปั้นดินเผา แต่ก็ยังไม่มีการทำลวดลายหรือตกแต่งมากนัก จะเน้นการใช้สอยและใช้ประโยชน์มากกว่า
ยุคของการเข้าสู่วัฒนธรรม (The First Cities and Civilization)
https://images.app.goo.gl/NPzs4wfENcPFBD1t9
วิถีชีวิตของคนในยุคนี้ได้เปลี่ยนจากสภาพความเป็นอยู่จากหมู่บ้านหรือชุมชนเกษตรกรรมมาเป็นชุมชนเมืองที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมในการทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ก็มีการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากมีระบบชลประทานเกิดขึ้น ก่อให้เกิดการผลิต การค้าขายจนนำไปสู่ความมั่งคั่ง ทำให้มีผังเมือง มีศูนย์กลางการค้า เศรษฐกิจ มีกำแพง มีอาณาเขต มีดินแดน มีศาสนา มีการปกครอง มีกฎหมาย มีรัฐบาลที่เข้ามาจัดระเบียบชุมชนและสังคมที่มีความชัดเจนในเมืองนี้ด้วย สังเกตได้ว่าจะมีการเพิ่มความซับซ้อนทางสังคมมากกว่ายุคหินใหม่
นอกจากนั้นผู้คนในยุคนี้ไม่จำเป็นจะต้องแค่มีอาชีพเดียวเหมือนในยุคหินใหม่ที่มีเพียงอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังประกอบอาชีพอื่น ๆ ในชุมชนเดียวกันได้ เช่น พวกช่างฝีมือ ช่างปั้นหม้อ ช่างทอผ้า เป็นต้น รวมถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคมที่ถูกแบ่งไว้อย่างชัดเจน ผู้ที่ทำหน้าเป็นฝ่ายปกครองได้แก่ พระ ขุนนาง นักรบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่อยู่ชนชั้นสูง รองลงมาคือกลุ่มช่างฝีมือ พ่อค้า ชาวไร่ ชาวนา กลุ่มนี้จะเป็นประเภทที่ประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มชนชั้นต่ำที่สุด คือ กลุ่มพวกทาส พวกใช้แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เกิดมาพร้อมกับอารยธรรมนี้เลย
รวมถึงผู้คนมีความหลากหลายมากขึ้นที่ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ และอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีความเป็นเมืองสูง หน้าที่และอาชีพจึงมีความหลากหลายตามไปด้วย จึงทำให้การใช้ชีวิตจึงมีความสะดวกสบาย มั่นคง ปลอดภัย และมีเวลาว่างทำกิจกรรมอื่นมากขึ้นกว่าสังคมหรือผู้คนในยุคก่อน ๆ จึงทำให้ง่ายและเอื้ออำนวยต่อการสร้างความเจริญและความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจนกลายเป็นอารยธรรมโลกที่ผู้คนมีการปรับเอาวัฒนธรรม ทักษะ และเทคโนโลยีมาใช้และสร้างสิ่งใหม่ ๆให้เป็นในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งบางสิ่งก็ยังสามารถเห็นได้ในปัจจุบันนี้
Comments
Post a Comment